ตอนนี้ผมจะเขียนถึง ไพบูลย์ ในด้านอื่นๆบ้าง ไพบูลย์ เป็นผู้รักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ สมัยที่ไพบูลย์ยังเป็นเด็กวัยรุ่นเคยไปเที่ยวบ้านคุณพ่อของผมที่ หมู่บ้านบางม่วง ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน นครปฐม น่าจะอยู่ในช่วง พ.ศ. 2503 ไพบูลย์จะขลุกอยู่กับตู้หนังสือส่วนตัวของผม ที่ผมสะสมหนังสือสารพัดประเภทไว้เต็มตู้ จำนวนเป็นร้อยเล่ม
ต่อมาเมื่อพูดถึงหนังสือครั้งใด ไพบูลย์มักจะพูดถึงความหลังช่วงนี้เสมอๆ นับเป็นความประทับใจที่เขาจำได้ไม่เคยลืม และบอกว่านี่น่าจะเป็นการจุดประกายให้เขารักและผูกพันกับหนังสือตลอดมา
ประมาณ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ด้วยความรักในหนังสือ ไพบูลย์จึงได้เริ่มงานใหม่ด้วยการแปลหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คของฝรั่ง ประเภท How To ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากนักอ่านชาวไทยและผู้สนใจหนังสือแนวนี้มาก บางเรื่องก็แปลร่วมกับ ไพโรจน์ ลิมปกาญจน์ ซึ่งเคยทำงานร่วมกับไพบูลย์ที่ บ.อินเตอร์ไลฟ์ มาก่อน
ส่วนหนึ่งของหนังสือ How To ที่ไพบูลย์แปลและเรียบเรียง
ในวงการหนังสือประเภท How To สมัยนั้น เป็นที่ยอมรับกันโดยปริยายว่า ไพบูลย์คือ ผู้บุกเบิกหนังสือประเภทนี้ เพราะมีผลงานแปลและเรียบเรียงหนังสือแนวนี้ออกมาก่อนใครๆในวงการหนังสือจำนวนมากมาย
หนังสืออัตตชีวประวัติของ ไพบูลย์
ต่อมาไพบูลย์ก็เปลี่ยนแนวการเขียนหนังสือมาเป็นแนวชีวประวัติของบรรดาครูเพลงที่มีชื่อเสียงของไทย เช่น เอื้อ สุนทรสนาน อดีตผู้ก่อตั้งวงดนตรี สุนทราภรณ์ เป็นต้น นัยว่าน่าจะเกิดจากความชอบและสนใจในเรื่องเพลง และนำมาประยุกต์กับการเขียนหนังสือที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว
ปกหนังสือเล่มหนึ่งที่ไพบูลย์ รวบรวมและเรียบเรียง
โดยใช้นามปากกา “ศรี อยุธยา”
ก่อนที่จะมาเป็นผลงานหนังสือแนวชีวประวัติครูเพลงนั้น ไพบูลย์เขียนลงในคอลัมน์ นสพ.รายวันออนไลน์ “ผู้จัดการ” ทุกวันพุธ มาก่อน และนำมารวมพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ
เป็นที่กล่าวขานกันมานานว่า “ผู้ที่เขียนหนังสือเก่ง มักจะพูดไม่เก่ง” หรือกลับกัน”ผู้ที่พูดเก่ง มักจะเขียนหนังสือไม่เก่ง”นั้น น่าจะยกเว้นสำหรับ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ปรมาจารย์นักพูดอาชีพของไทย ไพบูลย์ สำราญภูติ นักขายและนักการตลาด และ กมล รัตนวิระกุล นายกสมาคมการบริหารโรงแรมไทย ผู้เชี่ยวชาญการบริหารโรงแรมและรีสอร์ท
อาจจะมีคนอื่นๆอีกที่ยังนึกชื่อไม่ออกขณะนี้ ต้องขออภัยด้วย
พบกันใหม่ตอนหน้าครับ สวัสดี