Tag Archives: กรุงศรีอยุธยา

คิดไปเขียนไป(2)อุทกภัยน้ำท่วม 2554

ผมขอข้ามเหตุการณ์อุทกภัยน้ำท่วม พ.ศ. 2538 ไปหนึ่งครั้งนะครับ เพราะนึกถึงสภาพน้ำท่วมใน พ.ศ.นั้นไม่ชัดเจนนัก ทั้งๆที่เหตุการณ์เพิ่งผ่านมาประมาณ 16 ปีเท่านั้น ผมอยากจะเขียนถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใน พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นวันนี้ และมีประชาชนพี่น้องชาวไทยกำลังประสบความยากลำบากเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส  และความเสียหายมิใช่เพียงแต่เกิดกับประชาชนชาวบ้าน ร้านค้าตามอาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่ความเสียหายยังลุกลามไปถึงวัด โรงเรียนต่างๆโบราณสถานหลายจังหวัด โรงงานอุตสาหกรรมหนักในเขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ถึง 5-6 แห่งแล้ว ยังไม่นับรวมถึงถนนหนทางที่เสียหายอีกจำนวนหลายสิบสาย ในหลายจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้

น้ำท่วมประเทศไทยมีมานานกว่าสามศตวรรษแล้ว

หากเรายังไม่ลืมประวัติศาสตร์ชาติไทย สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้นคือจังหวัดพระนครศรีอยุธยาวันนี้ โดยสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม แต่กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่บนเนินสูงพอสมควร และมีคูรอบเมืองเพื่อป้องกันข้าศึกมารบกวน โดยเฉพาะพม่าซึ่งเป็นข้าศึกขาประจำที่มักจะยกกองทัพมารบกวนเสมอๆ สมัยนั้นพม่าจะส่งทหารจำนวนหนึ่งมาก่อนล่วงหน้า เพื่อมาเก็บเสบียงอาหารจากชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามรายทางที่กองทัพพม่าจะยกทัพมา และยังมาทำนาอีกส่วนหนึ่ง เพื่อเตรียมเสบียงอาหารไว้เลี้ยงกองทัพซึ่งมีกำลังพลเป็นหมื่นเป็นแสนคน การทำสงครามสมัยนั้นมักใช้เวลานานแรมเดือน แต่กรุงศรีอยุธยาก็ไม่กังวลใจเท่าไรนัก เพราะปีหนึ่งก็จะมีน้ำเหนือหลากมาเป็นประจำ ทำให้กองทัพพม่าต้องยกทัพกลับ เพราะมิเช่นนั้นช้าง ม้า ทหาร ก็อาจจะจมน้ำเหนือที่หลากมา นี่จึงเป็นกลยุทธการทำศึกโดยธรรมชาติ เมื่อกองทัพพม่ายกทัพหนีน้ำท่วมกลับไป ไม่ช้าไม่นานน้ำที่ท่วมก็จะแห้ง เพราะกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้นมีคูคลองจำนวนมากมาย สามารถระบายน้ำได้อย่างดี ชาวบ้านที่หนีทัพพม่าเข้าไปอยู่ภายในกำแพงเมือง ก็ออกมาทำสวนทำนากันตามปกติ

กรุงศรีอยุธยาวันนี้คือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บรรดาคูคลองจำนวนมากถูกถมและสร้างเป็นถนนตามความเจริญของบ้านเมืองที่พัฒนา ถนนบางสายก็สร้างขวางทางระบายน้ำ โดยเฉพาะวิศวกรผู้ออกแบบสร้างถนนก็มักจะคำนึงถึงความมั่นคง ความสวยงามและความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน แต่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบทางระบายน้ำ ดังนั้นเราจึงเห็นถนนที่สร้างอย่างดีกลับถูกพลังสายน้ำเซาะขาดเป็นช่วงๆ

เรามุ่งแต่การพัฒนาความเจริญให้กับบ้านเมือง ที่ราบลุ่มเมื่อสมัยก่อนเป็นทุ่งนาก็พัฒนามาเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีโรงงานอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่จำนวนหลายแห่ง ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นท้องนา โดยลืมประวัติศาสตร์ของภูมิประเทศไปว่า ปีหนึ่งจะมีน้ำเหนือหลากมาเป็นประจำ ประกอบกับป่าไม่ที่อยู่ภาคเหนือถูกตัดทำลายไปเป็นจำนวนมาก ภูเขาที่เคยมีต้นไม้คอยซับน้ำฝนก็ไม่มี เมื่อน้ำฝนตกลงมาบริเวณป่าไม้ก็จะไหลลงมาทั้งหมด กลายเป็นมวลน้ำจำนวนมหาศาล ไหลหลากลงมาทำลายพืชไร่และบ้านเรือนของประชาชนเสียหายเป็นประจำทุกปี แต่ปีที่ผ่านๆมาฝนตกลงมาตามธรรมชาติ มาวันนี้โลกเรามีความแปรผันมากขึ้น มีพายุหลากหลายชื่อโหมเข้ามาประเทศไทย ปริมาณน้ำฝนจึงมากขึ้นเป็นทวีคูณหลากล้นลงมาภาคกลาง โดยไม่มีอะไรขวางกั้น จังหวัดที่อยู่ภาคกลางเช่น นครสวรรค์ และอยุธยา จึงรับกรรมประสบภัยน้ำท่วมเช่นวันนี้

สภาพน้ำท่วมในจังหวัดอยุธยา โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมจำนวนหลายแห่ง และโบราณสถานตามวัดต่างๆ

ประเทศไทยมีแม่น้ำจำนวนหลายสาย อาทิ ปิง วัง ยม น่าน ไหลมาจากภาคเหนือมารวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์ จากนี้ก็ไหลลงมาภาคกลางผ่านจังหวัดต่างๆลงสู่ทะเลที่จังหวัดสมุทรปราการ แต่ก็ไม่สามารถจะระบายน้ำได้ดีเท่าที่ควร

และตามแม่น้ำต่างๆก็มีการสร้างเขื่อนไว้จำนวนหลายแห่ง โดยคุณประโยชน์ของเขื่อนเหล่านี้คือเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งคือเก็บกักน้ำไว้สำหรับการทำนา โดยกรมชลประทาน

ถึงแม้จะมีน้ำเหลือไหลหลากลงมาภาคกลางเป็นประจำทุกปี แต่หน่วยงานท้องถิ่นก็ขาดการวางแผนอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการวางแผนแบบบูรณาการระหว่างจังหวัดต่างๆร่วมกัน การป้องกันน้ำท่วมแต่ละปีเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆคือ การระดมลอกคลองลัดแม่น้ำท่าจีนสามแห่ง คือ คลองลัดงิ้วราย เขตอำเภอนครชัยศรี คลองลัดทรงคะนอง และคลองลัดท่าข้าม เขตอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ผมเป็นชาวสามพรานโดยกำเนิดเห็นคลองลัดที่กล่าวมาตั้งแต่เป็นเด็ก หน่วยงานท้องถิ่นก็ละเลยไม่บำรุงรักษา ปล่อยให้ตื้นเขิน มีผักตบชวาขึ้นเต็มคลองไปหมด วันนี้รัฐบาลสั่งการให้หน่วยทหารช่างลอกคลองลัดทั้งสามเป็นการด่วน เพื่อเป็นการระบายน้ำให้ลงทะเลเร็วขึ้น นับเป็นอานิสงค์แก่ชาวบ้านแถบนั้นโดยแท้ แต่ก็อย่าลืมกำชับหน่วยงานท้องถิ่นคือ อบต.ที่อยู่แถวนั้น ช่วยดูแลบูรณะให้ดีตลอดไปด้วย

กรณีศึกษาน้ำท่วม พ.ศ. 2554

น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่หน่วยงานต่างๆที่รับผิดชอบควรจะหันหน้ามาวางแผนร่วมกันอย่างยั่งยืน ถือเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะเข้ามาบริหารบ้านเมือง ก็จะต้องจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดต่างๆนำมาใช้ในการพัฒนาแผนงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งๆขึ้นไป

เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นปีนี้ ผลเสียที่ตามมาและรอการแก้ไขให้มีสภาพดีเช่นเดิมคือ การจัดสรรงบประมาณช่วยชาวนาชาวไร่ ในการสรรหาพันธ์พืชต่างๆมาเพาะปลูก การบูรณะซ่อมสร้างถนนที่ชำรุดเสียหาย การบูรณะโบราณสถานนับร้อยๆแห่ง การบูรณะอาคารสถานที่ราชการ เช่นโรงพยาบาล จำนวนหลายแห่ง รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่รวมงบประมาณของภาคเอกชนที่จะต้องสร้างเสริมอุปกรณ์เครื่องจักรในโรงงานที่เสียหาย รถยนต์ที่เสียหายจำนวนเป็นพันๆคัน เป็นต้น

งบประมาณตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะต้องใช้เงินเป็นแสนล้านบาท เงินจำนวนนี้รัฐบาลสามารถจะนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆที่มีความจำเป็นได้มากมาย หากไม่มีวิกฤตการน้ำท่วมในวันนี้ แต่อย่างไรก็ดี วิกฤตการครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสที่เราจะนำมาใช้ในการแก้ไขสิ่งบกพร่องต่างๆให้ดีขึ้น เพื่อมิให้เกิดวิกฤตการเช่นนี้อีกในอนาคต

ใส่ความเห็น

Filed under คิดไปเขียนไป